การทำงานอย่างมีผลผลิตและผลิตภาพในยุคหลังโควิด-19

การทำงานอย่างมีผลผลิตและผลิตภาพในยุคหลังโควิด-19
(Productive Work and Productivity: Post COVID Era)

 

โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ฮาร์วาร์ด
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ

 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย แม้ในอนาคต เมื่อวิกฤติผ่านไปแล้ว แต่มีแนวโน้มที่ปัญหาต่าง ๆ จะยังไม่จบสิ้น สิ่งที่ผมกังวลมากเป็นพิเศษ คือ ความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล จากทรัพย์สินที่ไม่ถูกใช้งาน คนว่างงาน และผู้ว่างงานแฝงในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากเราสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ผมมีข้อเสนอการทำงานอย่างมีผลผลิตและผลิตภาพในกลุ่มคน/องค์กรต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

1. ข้าราชการ/องค์กรราชการ
ในอดีต ระบบราชการไทยได้รับคำครหาว่า “เช้าชามเย็นชาม” แต่ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วขึ้น และเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ถึงกระนั้น มาตรฐานบางด้านของระบบราชการไทยก็ยังตามหลังประเทศที่ภาครัฐมีประสิทธิภาพสูง พิจารณาได้จากดัชนีความง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ปี 2020 เช่น กระบวนการจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทยใช้เวลา 6 วัน แต่นิวซีแลนด์ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน หรือการขออนุญาตก่อสร้างในประเทศไทยใช้เวลาถึง 113 วัน แต่ฮ่องกงเวลาเพียง 69 วัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในการจัดการกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เราได้เห็นว่า ในภาวะวิกฤติ ระบบราชการสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทำงานหนัก และบูรณาการกันมากขึ้นได้ เห็นได้จากบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการทำงานร่วมกัน มีการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน และทำงานหนัก หมุนเวียนกันทำงานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และ 7 วันต่อสัปดาห์ เพื่อแก้ปัญหาและควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุด

เมื่อพิจารณาด้วยมุมมองแบบเดียวกัน ประเทศไทยยังมีปัญหาและจะมีปัญหาอีกมากมายเหลืออยู่หลังจากวิกฤติ COVID ซึ่งหลายปัญหาก็อาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ อาทิ ความยากจน การว่างงาน ยาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาสังคม ฯลฯ ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาเหล่านี้ กลับดูเหมือนเป็นการทำงานแบบปกติ ไม่ได้ให้ความรู้สึกของความเร่งด่วน ไม่เห็นถึงการบูรณาการการทำงาน หรือการระดมทรัพยากรและสรรพกำลังมาช่วยแก้ปัญหา และไม่ได้รู้สึกถึงการทำงานหนัก ทุ่มเท และต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้วิกฤติหรือทำให้เป้าหมายต่าง ๆ สำเร็จโดยเร็วที่สุด

ผมได้เสนอความคิดไว้เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว (เช่น หนังสือ “เศรษฐกิจกระแสกลาง : ทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต”) ว่า ทรัพยากรของหน่วยราชการ เช่น อาคาร ที่ดิน เครื่องมือใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูล และเครือข่ายของทางราชการ ควรถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการเอง และเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย

ด้วยแนวคิดดังกล่าวและมุมมองต่อปัญหาที่มีอยู่ ผมจึงมีข้อเสนอว่า ประเทศไทยควรจัดการทำงานของระบบราชการแบบมุ่งเป้าหมาย ทำงานเชิงรุก และทำงานด้วยความตระหนักถึงความรุนแรงและความเร่งด่วนของปัญหามากขึ้น โดยการใช้ทรัพยากรของทางราชการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะงานที่เป็นยุทธศาสตร์หรือเป็นวิกฤติของชาติ ข้าราชการควรทำงานตลอด 24 ชั่วโมง 3 กะ ๆ ละ 8 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ โดยมีข้าราชการหมุนเวียนกันหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน ตลอดจนบูรณาการการทำงานข้ามหน่วยงาน และข้ามภาคกิจ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปโดยเร็วที่สุด

องค์กรราชการที่ให้บริการประชาชนไม่จำเป็นต้องทำงานเฉพาะในเวลาราชการ แต่สามารถขยายเวลาราชการในการให้บริการประชาชน หรือจัดระบบการทำงานนอกเวลาราชการ โดยเฉพาะการดำเนินงานที่เป็นกระบวนการภายในขององค์กรเอง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว เทียบเท่าประเทศชั้นนำของโลก และทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอยหรือรอคิวที่ยาวนานในการติดต่อหรือรับบริการจากระบบราชการ

ส่วนองค์กรราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่เป็นยุทธศาสตร์หรือการแก้ไขวิกฤติมากนัก หรือยังไม่มีความจำเป็นต้องเปิดสำนักงานตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ก็ควรพยายามแสวงหาแนวทางใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ มีการออกแบบสำนักงานและพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อให้หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ภาคกิจอื่น และบุคคลภายนอก เข้ามาใช้ประโยชน์นอกเวลาราชการได้ ทั้งเพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อแสวงหารายได้เข้ารัฐ

2. บุคลากร/องค์กรธุรกิจ
มาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ และการรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้ธุรกิจ ห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดหน้าร้าน ขณะที่ประชาชนต้องอยู่กับบ้าน ส่งผลทำให้ยอดขายตกต่ำ องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต ลดชั่วโมงการทำงานไปจนถึงเลิกจ้างพนักงาน ส่งผลทำให้ทรัพยากรและบุคลากรขององค์กรไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี ในความพยายามเอาตัวรอดภายใต้ภาวะวิกฤติ ภาคธุรกิจได้เรียนรู้ว่า องค์กรยังสามารถลดต้นทุนลงได้อีก ยังสามารถพัฒนาผลิตภาพให้มากขึ้นได้อีก และยังมีช่องทางในการหารายได้เพิ่มขึ้นได้อีก จากความพยายามใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่ในองค์กรธุรกิจ

หลังยุค COVID ที่การเกิดโรคระบาดอุบัติใหม่กลายเป็นความปกติใหม่ของโลก การดำเนินงานขององค์กรธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีผลผลิตและมีผลิตภาพสูง และมีการจัดการความเสี่ยงมากขึ้น องค์กรธุรกิจควรมีลักษณะ LEAN จิ๋วแต่แจ๋ว คล่องแคล่ว ปรับตัวได้เร็ว เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตครั้งต่อไปได้ ดังที่ผมได้เสนอความเห็นไว้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วในหนังสือ “SMEs หรือ SLEs?: แนวโน้มธุรกิจไทยในศตวรรษหน้า” ว่า ธุรกิจที่จะอยู่รอดในอนาคตถ้าไม่ใหญ่ ก็ต้องเล็กไปเลย

องค์กรธุรกิจหลัง COVID จะมีการจ้างงานประจำลดน้อยลง แต่จะเน้นการใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ และการจ้างงานภายนอกไปยังบุคคล (outsource to individual) หรือจ้างเป็นโครงการหรือเป็นชิ้นงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้องค์กรมีภาระผูกพันด้านค่าจ้างน้อยลง ค่าจ้างแรงงานจะกลายเป็นต้นทุนที่ผันแปรตามปริมาณผลผลิต ผลผลิตมากก็จ่ายค่าจ้างมาก แต่หากองค์กรมีปัญหาด้านรายรับ ก็สามารถตัดลดค่าจ้างแรงงานภายนอกออกได้ง่าย

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีการจ้างงานประจำน้อยลง ประกอบกับเทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ องค์กรธุรกิจบางประเภทก็ไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาสถานที่ทำงานที่มีขนาดใหญ่ แต่อาจเช่าพื้นที่สำนักงานชั่วคราวเป็นครั้ง ๆ หรือ co-working space ส่วนองค์กรที่มีอาคารสถานที่ของตัวเอง ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยการหารายได้จากการแบ่งปันพื้นที่สำนักงานให้คนอื่นร่วมใช้ ทั้งในและนอกเวลาทำการตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยแนวทางเช่นนี้จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากอาคารสถานที่ได้มาก

นอกจากนี้ การพัฒนาบริการทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบคลาวด์ (cloud computing) ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านฮาร์ดแวร์เป็นจำนวนมาก แต่สามารถใช้สมรรถนะของฮาร์ดแวร์ของผู้ให้บริการ ใช้บริการจัดเก็บข้อมูล และบริการซอฟท์แวร์ จากระบบคลาวด์ได้ ทำให้ภาระต้นทุนด้านเทคโนโลยีขององค์กรลดลง

 

3. คนทำงานจากบ้าน
ผลกระทบจากวิกฤติ COVID และการปรับตัวของภาคธุรกิจดังกล่าวข้างต้น จะทำให้คนจำนวนหนึ่งผันตัวไปประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ หรือทำงานจากบ้านมากขึ้น คนกลุ่มนี้แม้ไม่ใช่ผู้ว่างงาน แต่หากขาดระบบการติดตาม ตรวจสอบ กระตุ้น และจูงใจที่เหมาะสม อาจทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานอย่างขาดผลิตภาพหรือทำสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต จนทำให้เกิดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก

การส่งเสริมการทำงานที่มีผลผลิตและมีผลิตภาพของผู้ทำงานจากบ้าน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของผู้ที่ทำงานที่บ้าน ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต ที่เกี่ยวกับวิธีการทำงานที่บ้าน เช่น การวางแผนการทำงาน การจัดลำดับความสำคัญของงาน การบริหารเวลา เทคนิคการควบคุมตนเองให้จดจ่อกับงานและไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งอื่น การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการติดต่อ ประสานงานและร่วมมือทางไกล การพัฒนาความมุ่งมั่น ความขยัน และความรับผิดชอบ ตลอดจนการจัดเตรียมอุปกรณ์และจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้าน เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน องค์กรที่จ้างคนทำงานจากบ้าน จำเป็นต้องออกแบบระบบการทำงาน และระบบติดตามและตรวจสอบการทำงานทางไกล อาทิ การวางแผนการทำงานรายบุคคล การสร้างตัวชี้วัดกำกับการทำงานที่บ้าน การเก็บบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งเวลาที่ใช้ในการทำงานจริงและผลงานที่ทำได้ การกำหนดระเบียบและข้อตกลงการทำงานที่บ้าน การประสานงาน การส่งงาน การนัดหมายประชุมประจำสัปดาห์ การมีช่องทางป้อนกลับเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน การจัดทำรายงานการทำงานประจำวัน (daily report) และรายการสิ่งที่จะทำ (to do list) ในวันถัดไป ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดควรจัดทำเป็น “คู่มือสำหรับผู้ที่ทำงานจากบ้าน”

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายที่ส่งเสริมคนทำงานจากบ้าน ฟรีแลนซ์ คนทำงานอิสระ ให้สามารถทำงานอย่างมีผลผลิตและมีผลิตภาพมากขึ้น ในระดับภาพรวมของประเทศ โดยพยายามวัดผลิตภาพของคนกลุ่มนี้ การสนับสนุนการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะอย่างสม่ำเสมอ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยให้การทำงานทางไกลมีผลิตภาพ การพัฒนาตลาดการจ้างงานของคนทำงานจากบ้าน คนทำงานอิสระ และฟรีแลนซ์ รวมทั้งการออกแบบนโยบายการเงินการคลังที่จูงใจให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานอย่างมีผลิตภาพมากขึ้น

 

4. ผู้ต้องขัง
สถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีน จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจถดถอยและมีคนว่างงานจำนวนมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะแจกประชาชนได้เป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ว่างงานที่ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีครอบครัวให้พึ่งพิง หรือครอบครัวไม่มีฐานะพอให้พึ่งพิงได้ เมื่อหางานทำไม่ได้และไม่มีรายได้ อาจตัดสินใจก่ออาชญากรรม ลักทรัพย์ หรือค้ายาเสพติด จึงทำให้มีแนวโน้มที่จำนวนนักโทษอาจเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ต้องขังล้นคุกอยู่แล้ว (3.75 แสนคน)

แม้กรมราชทัณฑ์ได้ให้ผู้ต้องขังทำงาน ตลอดจนจัดโครงการและกิจกรรมในการพัฒนาสมรรถนะและฝึกอาชีพของผู้ต้องขัง รวมทั้งนำผู้ต้องขังชั้นดีออกมาทำงานสาธารณะ แต่ผมมีความเห็นว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ยังมีผลิตภาพต่ำ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำกิจวัตรประจำวัน ทานอาหาร พักผ่อน และนอนหลับ แต่มีเวลาทำงานเพียงวันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ถือเป็นการนำคนไปกักขังไว้ โดยไม่ทำให้เกิดผลผลิตหรือมีการทำงานอย่างมีผลิตภาพมากพอ

ผมมีแนวคิดว่า ผู้ต้องขังซึ่งเคยสร้างปัญหาแก่สังคมก่อนถูกจำจอง ไม่ควรเป็นภาระแก่สังคมในระหว่างที่ถูกคุมขัง เราควรให้ผู้ต้องขังทำงานและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ทั้งเพื่อการหารายได้คืนแก่รัฐ และการทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เพราะรัฐต้องใช้เงินภาษีจำนวนมากตลอดกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำเนินคดีและคุมขังผู้ที่กระทำความผิด ผู้ต้องขังจึงควรทำงานเพื่อชดใช้คืนต้นทุนทั้งหมดให้แก่รัฐ รวมทั้งชดใช้คืนแก่สังคมด้วย

กระทรวงยุติธรรมควรร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ รวมทั้งภาคธุรกิจและภาคประชากิจ เพื่อสร้างงานสำหรับผู้ต้องขัง ทั้งงานที่มีค่าตอบแทน และงานที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะงานที่หาแรงงานหรืออาสาสมัครทำได้ยากหรือไม่เพียงพอ เช่น งานขุดลอกคูคลอง งานทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ งานซ่อมแซมหรือปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองและชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ต้องขังควรได้รับแรงจูงใจในการทำงานด้วย โดยการทำงานที่มีผลตอบแทนนั้น นอกจากรายได้ที่ชดใช้คืนแก่รัฐแล้ว หากมีรายได้มากพอ ส่วนหนึ่งควรแบ่งให้ผู้ต้องขังไว้ใช้จ่ายในเรือนจำ และหักรายได้บางส่วนสำหรับเป็นเงินออมด้วย เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการประกอบอาชีพและเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงชีพ เมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้โอกาสที่ผู้พ้นโทษหวนกลับมาเข้าคุกอีกลดน้อยลง

5. พระ/นักบวช/ผู้ทำงานรับใช้ศาสนา
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพระและนักบวช หรือผู้ที่ทำงานรับใช้ศาสนาทั้งเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา ในศาสนาต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะพระภิกษุและสามเณรในศาสนาพุทธมีถึงประมาณ 3 แสนคน ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤติ COVID ที่ทำให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น จะทำให้คนส่วนหนึ่งหันไปบวชเป็นพระและสามเณรมากขึ้น โดยหวังพึ่งสถาบันศาสนาในฐานะที่เป็นระบบสวัสดิการสังคมทางอ้อม

แม้การบวชเป็นพระจะดีกว่าการก่ออาชญากรรม แต่พระและนักบวชจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพราะพระส่วนใหญ่ปฏิบัติเพียงกิจทางศาสนาเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้สมรรถนะ ความศรัทธาของผู้คน และทรัพยากรที่มีอยู่ในวัดกว่า 4 หมื่นแห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน ครบทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

พระ/นักบวชมีสถานะและได้รับการยอมรับในฐานะเป็นผู้นำของชุมชนอยู่โดยธรรมชาติ และวัดหรือศาสนสถานก็เป็นศูนย์กลางของชุมชน รวมทั้งมีทรัพยากร และสามารถระดมทรัพยากรจากชุมชนและผู้คน เพื่อทำประโยชน์สาธารณะได้ ผมจึงเสนอว่า พระ/นักบวชควรแสดงบทบาทมากขึ้น ทั้งในการสั่งสอนคำสอนทางศาสนา และการแสดงตนเป็นแบบอย่างในการทำความดี โดยมีส่วนในการแก้ปัญหาสังคม และพัฒนาคนและชุมชน เช่น การเป็นตัวกลางระดมเงินบริจาคเพื่อสร้างสาธารณะประโยชน์ สร้างโรงพยาบาล และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก การใช้ทรัพยากรของวัดและระดมทรัพยากรจากชุมชนเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพแก่คนตกงาน เป็นต้น

ที่ผ่านมา ผมในฐานะประธานสถาบันการสร้างชาติ มีแนวคิดและความตั้งใจในการจัดทำหลักสูตร “วัดสร้างชาติ” โดยหวังจะเป็นตัวกลางในการนำแนวคิด ความรู้ และประสบการณ์จากพระนักพัฒนาระดับประเทศ จากนักคิด และจากผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้แก่ พระภิกษุและผู้ทำงานรับใช้ศาสนา เพื่อสร้างความรู้ สร้างเครือข่าย และแรงบันดาลใจ ให้พระและผู้ที่เข้าอบรมนำกลับไปพัฒนาตนเอง พัฒนาวัด และพัฒนาชุมชน เพื่อเปลี่ยนวัดไม่ให้เป็นเพียงสถานที่ทางศาสนา แต่เป็นที่ที่มีการทำงานจริงจังในการสร้างคน สร้างชุมชน และสร้างชาติ

6. ทหาร
ทหารเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมเห็นว่า เป็นกลุ่มคนก้อนใหญ่ (กำลังพลประมาณ 3.6 แสนนาย รวมทหารกองหนุนอีก 2 แสนนาย) ที่มีร่างกายแข็งแรง มีระเบียบวินัย มีความรู้ความสามารถหลากหลาย มีรายได้จากงบประมาณแผ่นดิน มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน รวมทั้งมีอำนาจและเครือข่ายกว้างขวาง แต่ในภาวะที่ประเทศไม่มีสงคราม ทหารบางส่วนไม่ได้มีภาระงานให้ทำอย่างเต็มที่

ผมจึงมีความเห็นว่า ทหารควรมีผลิตภาพในยามไม่มีสงคราม (No War Productivity) กองทัพควรทำการสำรวจและวัดปริมาณการทำงานและผลิตภาพของกำลังพลสม่ำเสมอ และมีการจัดสรรกำลังพลในการทำงานที่มีผลผลิตและมีผลิตภาพมากขึ้น โดยการมอบหมายภารกิจด้านการพัฒนาอย่างเจาะจงให้กับหน่วยทหารระดับต่าง ๆ เช่น การจับคู่หน่วยทหารกับชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้มีความรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนนั้นอย่างต่อเนื่อง หรือการมอบหมายความรับผิดชอบให้นายพลแต่ละคนให้ไปเป็นที่ปรึกษาหรือทำโครงการ เพื่อช่วยเหลือชุมชนและครัวเรือนที่ยากจนให้พ้นจากความยากจน เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทัพควรพิจารณาเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของกองทัพอย่างเต็มที่ เช่น การนำที่ดินของกองทัพมาใช้ประโยชน์สาธารณะ หรือใช้กำลังพลทำการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับคนยากจน หรือให้คนยากจนและคนว่างงานเข้าทำกิน การประยุกต์ใช้เครื่องจักรกลของกองทัพ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการขุดบ่อรองรับน้ำหรือเจาะน้ำบาดาล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่า งบประมาณและผู้คนที่กองทัพครอบครองนั้นได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าอย่างแท้จริง

ในภาพรวมประเทศ ผมเห็นว่า เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาประชาชนทุกคนให้มีสมรรถนะขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ดังที่ผมได้นำเสนอเป็น “โมเดลสมรรถนะ KSL31220” และมีการสำรวจสมรรถนะ วัดผลิตภาพ และจัดทำ Big Data เกี่ยวกับสมรรถนะและผลิตภาพของคนและทรัพยากรทั้งหมดในประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถจัดคนให้ตรงตามความเชี่ยวชาญและความสามารถตามธรรมชาติ (natural capability) ของแต่ละคน และจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิสภาพ ซึ่งจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น และปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว