COWELL – Micro Model: ข้อเสนอ ดร.แดน “โมเดลโคเวล” – ธุรกิจจุลภาคฝ่าวิกฤติ COVID อย่างไร

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน)
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือ COVID-19 เป็นวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางทั่วโลก สถานการณ์ของโรคระบาดที่แพร่ระบาดได้ง่ายและยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่า สถานการณ์นี้จะรุนแรงเพียงใด และจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เมื่อการคาดการณ์สถานการณ์ไม่ได้แน่ชัด การรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการลองผิดลองถูกในระดับหนึ่ง และอาจอ้างอิงจากแนวทางการจัดการกับวิกฤติที่มีลักษณะใกล้เคียงกันและเคยเกิดขึ้นในอดีตเสียเป็นส่วนใหญ่

 

ผมได้วิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ COVID-19 โดยใช้ “แบบจำลองการคาดการณ์อนาคต 4P” ประกอบด้วยฉากทัศน์เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยในอนาคต 4 ฉากทัศน์

(1) Possible Future หรืออนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ การระบาดอย่างรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินความสามารถที่ระบบสาธารณสุขในประเทศจะรองรับได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้การระบาดจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีผู้ติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันถึงระดับที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity Threshold: HIT) กล่าวคือ มีจำนวนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจำนวนมากพอที่จะทำลายห่วงโซ่ของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ ทั้งนี้คาดว่าการระบาดอาจกินเวลายาวนานประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดในต่างประเทศอาจกินเวลายาวนานกว่านั้น นอกจากนี้ ยังมีหลายประเด็นที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้ อาทิ เชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์หรือไม่ ผู้ที่หายป่วยจะมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ และภูมิคุ้มกันจะคงอยู่นานเท่าไร ประเด็นเหล่านี้จะมีผลต่อการระบาดระลอกใหม่และระยะเวลาของการระบาด

(2) Plausible Future หรืออนาคตที่น่าจะเกิดขึ้น คือ การระบาดรุนแรงเป็นระลอก ๆ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่เมื่อการระบาดรุนแรงถึงระดับหนึ่งจะทำให้ผู้คนไม่กล้าออกจากบ้านและระมัดระวังตัวมากขึ้น จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อชะลอตัว ถึงกระนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันยังไม่ถึงระดับ HIT จึงอาจทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นได้เป็นช่วง ๆ จนกว่าจะมีผู้มีภูมิคุ้มกันถึงระดับ HIT หรือจนกว่ามีการคิดค้น ผลิตและกระจายวัคซีน แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดก่อนกัน ทั้งนี้การระบาดอาจกินเวลา 1.5-2 ปี หรือจนกว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง

(3) Probable Future หรืออนาคตที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น คือ สถานการณ์ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ โดยรัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มงวด ประกอบกับภาคเอกชนและประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันโรค การรักษาสุขอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคม และงดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อย แต่กระนั้นสถานการณ์ที่เข้มงวดเช่นนี้จะยืดเยื้อยาวนาน จนกว่าประชาชนจะได้รับวัคซีน ซึ่งมีการประเมินกันว่า เร็วที่สุดอาจใช้เวลา 12-18 เดือนในการพัฒนาวัคซีน แต่กระนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนส่วนใหญ่ เชื่อว่า การพัฒนาวัคซีนอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้น และยังไม่รวมถึงระยะเวลาในการผลิตและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงคนทั่วโลก ซึ่งคาดว่าวัคซีนจะถูกกระจายในประเทศที่คิดค้นวัคซีนและประเทศร่ำรวยก่อน กว่าจะมาถึงประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

(4) Preferable Future หรืออนาคตที่ปรารถนาให้เกิดขึ้น คือ สถานการณ์ที่จบเร็ว กล่าวคือ หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอ 4 ข้อที่ผมได้เสนอไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2563 ประกอบด้วย (1) กำหนดวันเวลาล่วงหน้าแล้วประกาศให้ทุกคนเตรียมตัวก่อนที่จะสั่งปิดประเทศ 2 สัปดาห์ (2) ออกคำสั่งทางกฎหมายให้ทุกคนในประเทศอยู่กับบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ (3) ทำข้อตกลงให้ทุกประเทศปฏิบัติตาม ข้อ (1) และ (2) พร้อมกัน ในช่วงวันเดียวกัน และ (4) หากไม่ได้รับฉันทานุมัติจากทุกประเทศ ให้ประเทศไทยทำเพียงประเทศเดียว และหลังจากปิดประเทศ 2 สัปดาห์ ให้ประชาชนออกจากบ้านได้ แต่ให้กักตัวผู้ที่ผ่านเข้าพรมแดนเข้าไทยทุกคนเป็นเวลา 14 วัน ด้วยมาตรการเหล่านี้ การแพร่ระบาดจะจบลงอย่างรวดเร็ว และประชาชนจะสามารถกลับมาชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

เมื่อพิจารณาฉากทัศน์ด้านการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้ง 4 ฉากทัศน์ ดูเหมือนว่า ประเทศไทยจะหนีไม่พ้นจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงและยืดเยื้อ เพราะรัฐบาลไม่ได้เลือกทำตามข้อเสนอของผม เมื่อเป็นเช่นนี้ หากการระบาดสิ้นสุดลงโดยการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) แม้ใช้เวลาน้อยกว่า แต่จะเกิดความเสียหายรุนแรงจากการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จำนวนมาก ในขณะที่การควบคุมการระบาดเพื่อรอเวลาการพัฒนาวัคซีน จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวเป็นเวลายาวนาน จนอาจทำให้มีการปิดกิจการและการว่างงานจำนวนมาก และอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้และวิกฤตการณ์การเงินในที่สุด นอกจากนี้ ไม่ว่าฉากทัศน์ใด ประเทศไทยก็ต้องเผชิญผลกระทบจากความตกต่ำและถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ต่างก็เผชิญการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นกัน เพราะเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศค่อนข้างสูง นอกจากนี้

ด้วยแนวโน้มที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยืดเยื้อ ผมจึงได้พยายามคิดหาทางออกให้ประเทศว่า จะรับมือเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ โดยที่ประชาชนในประเทศจะยังมีความเป็นอยู่ที่ไม่ยากลำบากจนเกินไปได้อย่างไร ซึ่งผมขอเรียกข้อเสนอด้านเศรษฐกิจในการรับมือกับ COVID-19 ในบทความนี้ว่า “COWELL” ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอ 2 ส่วน คือ ข้อเสนอในระดับจุลภาค (micro) และข้อเสนอในระดับมหภาค (macro) โดยในบทความนี้จะนำเสนอเฉพาะมาตรการระดับจุลภาค

ในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง มาตรการสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ประกาศออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ การแจกเงินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง การว่างงาน หรือรายได้ลดลง การลดค่าใช้จ่าย ลดดอกเบี้ย ยืดการชำระหนี้ และจัดสรรแหล่งทุนเพื่อประคับประคองสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน อย่างไรก็ตาม การทุ่มงบประมาณเพื่อช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบการจะไม่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง หากสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยและทั่วโลกยังคงยืดเยื้อยาวนาน  เพราะจะสร้างภาระต่องบประมาณจำนวนมหาศาล ผมจึงขอเสนอมาตรการที่จะช่วยประคับประคองให้ประชาชนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ไม่ยากลำบากจนเกินไป

1. ดูดซับคนว่างงาน ด้วย “เกษตรพึ่งตนเองก่อน” (Subsistence First)

ในขณะที่ ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ กำลังประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า แต่ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ผลิตอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น ขณะที่ภาคเกษตรมีศักยภาพในการดูดซับแรงงานที่ว่างงานได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากภาคเกษตรมีการจ้างแรงงานถึง 11 ล้านคน หรือร้อยละ 30.9 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศในปี 2560 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นนาร้างประมาณ 1 ล้านไร่ และพื้นที่ทิ้งร้าง 7.3 ล้านไร่ (สถิติการใช้ที่ดิน ปี 2558/2559) ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

นอกเหนือจากโครงการสร้างงานระยะสั้นที่ใช้งบประมาณของรัฐ ผมเสนอว่า ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนาน รัฐบาลควรส่งเสริมการนำผู้ว่างงานกลับมาทำเกษตรที่ผมเรียกว่า “เกษตรพึ่งตนเองก่อน” ซึ่งเป็นการทำเกษตรเพื่อการบริโภคเองก่อน ผลผลิตที่เหลือจึงนำออกจำหน่าย โดยนำที่นาร้าง พื้นที่ทิ้งร้างที่สามารถทำการเกษตรได้ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาจัดสรรหรือเปิดให้ผู้ว่างงานเข้าใช้ประโยชน์ โดยในช่วงเวลานี้ควรนำผู้ว่างงานที่ต้องการทำเกษตรพึ่งตนเองก่อน มารับการฝึกฝนการทำเกษตรพึ่งตนเองก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำอาชีพนี้เมื่อเข้าถึงฤดูเพาะปลูกในปีนี้ รวมทั้งจัดหาปัจจัยการผลิตและเงินเลี้ยงชีพในระหว่างที่ผลผลิตยังไม่ออกมา ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะการนำนาร้าง 1 ล้านไร่มาทำเกษตรพึ่งตนเองก่อน โดยใช้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ (15 ไร่ต่อ 1 ครัวเรือน) จะสามารถรองรับได้คนถึง 6.6 หมื่นครัวเรือน หรือประมาณ 1.8 แสนคน

2. ปรับตัวสู่สินค้าและบริการที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการ

อุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการทั้งในประเทศทั่วโลกหดตัวลง และมีแนวโน้มหดตัวเป็นวังวน (spiral) กล่าวคือ มาตรการปิดเมืองทำให้ธุรกิจขาดรายได้ ต้องปลดคนงาน ส่งผลทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการลดลง และส่งผลทำให้ธุรกิจขาดรายได้จนถึงต้องปิดตัวลงเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลึกลงเรื่อย ๆ ขณะที่แนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการส่วนใหญ่เป็นกรกระตุ้นด้านอุปสงค์  โดยการอัดฉีดงบประมาณแจกให้ประชาชนที่ว่างงานและขาดรายได้ ซึ่งทำได้เพียงระยะสั้น ในขณะที่มาตรการด้านอุปทาน คือ การลดค่าใช้จ่าย ลดดอกเบี้ย พักการชำระหนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยยืดการปิดกิจการออกไปได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น

ผมจึงเสนอว่า ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปรับตัว โดยปรับกระบวนการผลิตไปสู่สินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยภาครัฐอาจสนับสนุนด้วยหลายวิธีการ ทั้งการสนับสนุนด้วยจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเทคนิคในการปรับเปลี่ยนการกระบวนผลิต การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสำหรับยุค COVID-19 การรับรองมาตรฐาน เป็นต้น เพื่อช่วยกระตุ้นอุปสงค์และอุปทานของตลาดภายในประเทศ

ตัวอย่างของมาตรการที่ช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ

– การปรับนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหันมาซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศ และในท้องถิ่นมากขึ้น โดยอาจชะลอหรือหยุดการลงทุนหรือการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน และหันไปเน้นการลงทุนและใช้จ่ายที่จำเป็นและทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากในประเทศ

– การใช้โรงแรมหรือ service apartment ของภาคเอกชนเป็นที่กักตัวดูอาการของประชาชนผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 แทนการใช้สถานที่ของภาครัฐที่ขาดความพร้อมหรือมีไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อช่วยพยุงภาคการท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานมากกว่า 4 ล้านคน

– การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมหันไปผลิตสินค้าที่จำเป็นและขาดแคลน โดยภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมหรือสินค้าทดแทนสินค้าที่ขาดแคลน โดยเฉพาะเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นและขาดแคลน เช่น เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกาย ชุด PPE หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เป็นต้น รวมทั้งสินค้าที่เป็นที่ต้องการและสินค้าทดแทนอื่น ๆ เช่น เครื่องตัดผมให้ตัวเอง เครื่องพ่นฆ่าเชื้อขนาดเล็กเพื่อใช้ในบ้านและรถยนต์ เครื่องกรองอากาศที่จำกัดเชื้อโรคได้ เป็นต้น

3. สร้างมาตรฐานใหม่ด้านสุขอนามัย
มาตรการปิดเมือง ทำให้ห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดการให้บริการ ขณะที่สำนักงานต่าง ๆ มีความเสี่ยงต้องปิดพื้นที่ หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก และทำให้บุคลากรจำนวนมากต้องถูกกักตัว จนอาจทำให้องค์กรดำเนินงานต่อไปไม่ได้
ผมจึงเสนอว่า ภาครัฐควรเร่งกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับกรออกแบบเมือง อาคารสำนักงาน ห้างร้าน บ้านเรือนที่ปลอดโรค ตลอดจนแนวปฏิบัติในการดำเนินงานของธุรกิจ การจัดจำหน่ายสินค้า และการให้บริการประเภทต่าง ๆ รวมทั้งมาตรฐานด้านสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน เพื่อปกป้องสุขภาพของแรงงานและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อภายในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานหรือแนวปฏิบัติสำหรับห้างร้านที่ต้องติดต่อปฏิสัมพันธ์ ขายสินค้า หรือให้บริการกับลูกค้าหรือบุคคลภายนอก เพื่อให้บริษัทและห้างร้านเหล่านี้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง และทำให้เกิดความมั่นใจว่า กิจกรรมเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่
มาตรฐานอีกด้านหนึ่งที่อาจจำเป็นต้องมีการพัฒนาขึ้นอย่างเร่งด่วน คือ มาตรฐานสำหรับบริการที่จำเป็น ที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมีการสัมผัสตัวหรืออยู่ใกล้กันมากกว่า 1 เมตร และอยู่ในพื้นที่ที่อากาศปิด ซึ่งในกลุ่มบริการทางการแพทย์มีมาตรฐานนี้อยู่แล้ว แต่กลุ่มบริการอื่น ๆ ยังไม่มีมาตรฐานนี้ เช่น ช่างตัดผม ช่างแต่งหน้า คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น เราต้องพิจารณาว่า จะสามารถพัฒนามาตรฐานด้านสุขอนามัยสำหรับอาชีพเหล่านี้ได้ โดยมีต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป เพื่อปกป้องทั้งผู้รับและให้บริการได้จริงหรือไม่และอย่างไร เช่น การปรับปรุงรถแท็กซี่ให้มีฉากกั้นระหว่างคนขับและผู้โดยสาร การพัฒนาแนวปฏิบัติด้านการทำความสะอาดอุปกรณ์และการสวมอุปกรณ์ป้องกันของทั้งผู้รับและให้บริการ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนมาก สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้อย่างเป็นปกติ โดยทั้งผู้ให้และรับบริการมีความมั่นใจในความปลอดภัย

4. เร่งปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
วิกฤติ COVID-19 และมาตรการปิดเมือง ทำให้ภาคธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการปิดบริการของธุรกิจในภาคการค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีการจ้างงานถึง 6 ล้านคน ประกอบกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อในที่ทำงานมีเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการทำงานจากที่บ้าน (work from home) การประชุมทางไกล (teleconference) และการจำหน่ายสินค้าและให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น
ผมได้นำเสนอบทความใน facebook ของผม เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา โดยทำนายว่าโมเดล PANDEMIC New Normal จะกลายเป็นสิ่งปกติที่อยู่กับโลกมนุษย์ ทั้งนี้ผมมองว่าในอนาคตเราอาจจะต้องอยู่กับภัยพิบัติโรคระบาดเป็นระยะ ๆ ตลอดไป จนกลายเป็นความปกติใหม่ (new normal) ที่ทุกคนจะคุ้นเคยและเคยชิน เกิดเป็นพฤติกรรม ความสัมพันธ์ การดำเนินชีวิต และการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่ง COVID-19 จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความปกติใหม่ด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ เศรษฐกิจดิจิทัล รวดเร็วยิ่งขึ้น
แม้ว่าที่ผ่านมา หลายองค์กรได้ปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมาก่อนจะเกิดวิกฤตแล้ว แต่ยังมีภาคธุรกิจจำนวนมากที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม (1-9 คน) ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น (ปี 2560) ดังนั้นองค์กรธุรกิจเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนให้ปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการคัดเลือกจัดหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประกอบการและพนักงานเกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์และการทำการตลาดออนไลน์ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเอื้อให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าถึงตาดออนไลน์ ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ในภาวะที่มีมาตรการปิดเมือง หรือมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค

5. ช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขและกักตัวแบบได้ประโยชน์
การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะการอัดฉีดเงินช่วยเหลือของรัฐบาลไปยังคนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ควรดำเนินการแบบให้เปล่า แต่ควรกำหนดเงื่อนไขในการรับการช่วยเหลือ อาทิ การทำงานเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ หรือการรับการฝึกอบรมในเรื่องที่เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพในยุควิกฤต เช่น การทำการตลาดออนไลน์ การทำธุรกิจอาหารออนไลน์ การดำเนินชีวิตในยุควิกฤติ เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน การกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยง หรือแม้แต่การขอความร่วมมือให้ประชาชนกักตัวเองที่บ้าน ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนอยู่เฉย ๆ หรือปล่อยเวลาให้สูญไปถึง 14 วันโดยไม่เกิดประโยชน์ แต่รัฐบาลควรจัดเตรียมหลักสูตรออนไลน์ที่มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้ที่ถูกกักตัว รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้เลือกเรียนรู้ หรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาความรู้และทักษะตามความสนใจของแต่ละคน เพื่อเตรียมความพร้อมของคนในประเทศ ทั้งด้านความรู้และทัศนคติในการรับมือกับวิกฤติที่จะยืดเยื้อยาวนาน

6. รณรงค์ให้คนตัวใหญ่โตช่วยคนตัวเล็กน้อย
รัฐบาลควรส่งเสริมและรณรงค์ให้คนที่มีมากช่วยคนที่มีน้อย หรือธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น เช่น การรณรงค์ระดับประเทศ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูง คนเงินเดือนมาก ยอมลดเงินเดือนตัวเอง หรือลดค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน เพื่อช่วยชะลอการปลดแรงงาน หรือนำเงินไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องตกงาน โดยอาจจะเริ่มต้นจากข้าราชการการเมืองและข้าราชการระดับสูงเป็นแบบอย่างก่อน และส่งเสริมให้ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาคธุรกิจดำเนินตามมาตรการนี้ด้วย
ในทำนองเดียวกัน ควรมีการส่งเสริมและรณรงค์ให้บริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก เช่น บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ควรเปิดพื้นที่ให้บริษัทเล็ก ๆ นำสินค้ามาวางจำหน่ายได้มากขึ้น หรือนำบุคลากรที่เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ในการปรับปรุงธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติ ช่วยพัฒนามาตรฐานในการผลิตและการให้บริการ หรือการปรับตัวไปสู่ธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น

วิกฤติที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ ดังนั้นการดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาจึงไม่ควรมองเฉพาะหน้าเท่านั้น และไม่ควรพึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องพยายามระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน และพยายามทำให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย