บทเรียนปรัชญาชีวิตจากสถานการณ์โควิด 19 (Philosophical Lessons from Covid-19)

โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ฮาร์วาร์ด
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ

 

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์อาจกำลังเปลี่ยนไปอย่างถาวร จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลกของไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิต วิถีความสัมพันธ์ วิถีการทำงาน ฯลฯ จากการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยหลักปรัชญาที่มีในชีวิต ผมได้ตกผลึกทางความคิดจนเกิดเป็นบทเรียนสำคัญที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์สำหรับทุกท่าน เพื่อสามารถก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมีความพร้อมและความเข้าใจ ดังต่อไปนี้

 

1. มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (Human Interdependence) จึงควรร่วมมือกัน (Collaboration) วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพากันและกัน ประชาชนต้องพึ่งพาบุคลากรทางแพทย์ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องพึ่งพาประชาชน การที่มีเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ อาจทำให้การระบาดแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ในทำนองเดียวกัน การเอาชนะสงครามกับโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็วนั้น ทุกคนต้องร่วมมือร่วมแรงกันอย่างจริงจัง โดยปราศจากความเห็นแก่ตัว

2. สิ่งสำคัญต่อชีวิต (Hierarchy of Life Importance): ปัจจัยอยู่รอด (Survival Factors) และปัจจัย 4 (4 Requisites) ในวิกฤติครั้งนี้ทำให้เราได้ตระหนักว่า อะไรมีความสำคัญสำหรับชีวิต ทั้งนี้ผมได้นำเสนอไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในหนังสือ “เศรษฐกิจกระแสกลาง: ทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต” ว่า ในยามวิกฤติสิ่งที่สำคัญในระดับบุคคล คือ ปัจจัย 4 แต่ในระดับประเทศ สิ่งที่สำคัญมีมากกว่าปัจจัย 4 แต่รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้เราสามารถผลิตและจัดหาปัจจัย 4 ได้เพียงพอกับคนในประเทศ ซึ่งผมเรียกว่า “ปัจจัยอยู่รอด”

3. ความตายหลีกหนีไม่พ้น (The Inevitability of Death) จึงต้องทำตามอุดมการณ์จนวันสุดท้าย (Fulfill the Vocation till the End) การระบาดของโควิด 19 เป็นเหมือนมรณานุสติ ที่ทำให้เราเห็นว่า ความตายนั้นอยู่ใกล้เรามาก เราจึงควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ เพื่อทำสิ่งที่เลอค่า ทำตามอุดมการณ์ที่ดีงามให้สำเร็จ และทำอย่างดีที่สุดจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

4. ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต (Sanctity of Life) คือ การใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย (Live Meaningfully) วิกฤติทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เหตุผลของการมีชีวิตคืออะไร ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกเส้นทางชีวิตและตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความหมาย มิใช่ดำเนินชีวิตไปแต่ละวันอย่างไร้ความหมาย

5. ทุกชีวิตเท่าเทียมกัน (The Fairness of Life) เพราะโควิด 19 ปฏิบัติต่อทุกคนเท่าเทียมกัน (COVID Treats All Fairly) มนุษย์ทุกคน แม้มีความแตกต่างของเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา วัฒนธรรม อาชีพ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือชื่อเสียง แต่ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อโรคระบาดเท่าเทียมกัน ดังนั้นมนุษย์จึงควรมีมุมมองและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

6. มนุษย์ต้องอารักขาร่างกาย (Respect the Body) เพราะสุขภาพเป็นเงื่อนไขของชีวิตที่มีประสิทธิภาพ (Health is Prerequisite for Productive Life) หากเรามีสุขภาพไม่แข็งแรง จะทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าตามที่ปรารถนา หรือไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานพอ ที่จะทำให้เป้าหมายสูงสุดในชีวิตสำเร็จ

7. พลังการทวีคูณที่มีประสิทธิสภาพ (Efficacy Power of Multiplication) จะเกิดขึ้นเมื่อสร้างคุณภาพก่อน แล้วผลลัพธ์เชิงปริมาณจะตามมา (Quality will Bring Quantity) โควิด 19 มีพลังคุณภาพซึ่งติดไปในคนปริมาณมากได้ ถ้าทุกคนยินดีใส่ใจลงรายละเอียดและทำในระดับส่วนตัวอย่างมีคุณภาพ จะเกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ต่อส่วนรวม เพราะการกระทำของแต่ละคนจะสามารถกระเพื่อมถึงสังคมได้ด้วยพลังทวีคูณ อะไรที่กระทบคนหนึ่งก็จะกระทบคนอื่นด้วย

8. วิกฤตทำให้เกิดการปฏิวัติตัวตนภายใน (Crisis: Revolution of Inner Self) สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตจะกระทบต่อความมั่นคง ทั้งทางกายภาพและจิตภาพของประชาชนทั่วไป ทำให้ทุกคนต้องกลับมาตั้งสติ เพื่อคิดและพูดคุยกับตัวเองมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกาย ใจ และจิตของตนเอง วิกฤตทำให้เราปฏิวัติหลักการชีวิตจากภายใน

9. การยอมรับระบอบชุมชน (Community Order) ทั้งให้ความร่วมมือที่ปรากฏและไม่ปรากฏ (Explicit and implicit human coordination) และยอมอยู่ใต้คำสั่งของผู้มีอำนาจ (Authority submission) การจัดการกับโรคระบาดทำให้เราตระหนักว่า การอยู่ในชุมชนทุกระดับต้องมีระบอบชุมชน ไม่ว่าในยามปกติหรือยามวิกฤติ สมาชิกชุมชนควรยินดีให้ความร่วมมือ และยินยอมอยู่ใต้สิทธิอำนาจของผู้มีสิทธิอำนาจในระดับต่าง ๆ แม้ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลบางระดับ แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

10. เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ทั้งด้านความรู้ (Knowledge) สติปัญญา (Wisdom) ความเข้าใจ (Understanding) และคุณธรรม (Virtue) วิกฤติโควิด 19 ให้บทเรียนแก่เราว่า เราจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเอาตัวรอดในยุคที่มีความผันผวนสูง มีข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จำนวนมาก ทั้งที่จริงและเท็จปะปนกัน เราจำเป็นต้องสามารถแยกแยะ ประเมิน ใช้ประโยชน์ และสามารถนำข้อมูลและความรู้มาใช้ในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง อย่างมีปัญญาความเข้าใจและมีคุณธรรม

11. สิทธิเสมอหน้าที่ (Right and Duty Balancing) สถานการณ์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่ควรใช้สิทธิที่มีอยู่โดยไม่รู้หน้าที่ เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนหรือผลเสียแก่ส่วนรวม เช่น แม้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะเดินทางไปไหนหรือพบเจอใครก็ได้ แต่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงควรรู้จักหน้าที่ของตัวเอง โดยการกักตัว (quarantine) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน เป็นต้น สิทธิในการทำสิ่งต่าง ๆ จึงควรมาพร้อมกับหน้าที่ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อสังคม

12. เตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต (Handling the Future) โดยจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างชาญฉลาด ผ่านการเชื่อมโยงฉากทัศน์อนาคตระหว่างภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น (possible future) ที่น่าจะเกิดขึ้น (Plausible future) ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น (Probable future) และที่ปรารถนาให้เกิดขึ้น (Preferable Future) เข้าด้วยกัน เพราะนอกจากปัญหาโรคระบาดจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการเตรียมพร้อมมากขึ้นในอนาคตแล้ว ยังมีประเด็นผลกระทบต่อเนื่องจากโรคระบาด โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่เราต้องเตรียมความพร้อมรับมือด้วย

สถานการณ์โควิด 19 จะเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ทุกท่านได้ทบทวน ใคร่ครวญและวางแนวทางการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต แน่นอนว่าอาจมีปัญหาทั้งหนักและเบารออยู่ข้างหน้าอย่างหลีกหนีไม่ได้ แต่ผมหวังว่าทุกท่านจะสามารถผ่านไปได้ หากเราเรียนรู้บทเรียน ปรับตัว และเติบโตอย่างแข็งแกร่งไปด้วยกัน